วัดพิกุลเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ประวัติวัดฉบับกรมการศาสนากล่าวว่า วัดพิกุลตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มริมคลองบางเชือกหนัง สร้างราว พ.ศ.2323 หรือปลายสมัยธนบุรี ไม่ทราบนามผู้สร้าง ได้รับพระราชทานสิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2517
ก่อน พ.ศ.2487 วัดพิกุลมีหลวงตาอยู่ 2 รูป มีอุโบสถและกุฏิไม้ริมคลองอย่างละหลัง ไม่มีวิหารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ สะพานข้ามคลองก็ไม่มี ต่อมาหลวงพ่อหวลได้มาจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ ท่านได้สร้างสะพานไม่ไผ่เล็กๆ ใช้ข้ามคลองบางเชือกหนัง (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 130)
ราว พ.ศ.2497 ได้สร้างศาลาท่าน้ำหลังแรก (ติดกุฏิหลวงพ่อหวลในปัจจุบัน) พร้อมกุฏิไม้ด้านหน้าขึ้นอีกหลัง ต่อมาสร้างศาลาการเปรียญ พ.ศ.2499 พร้อมศาลาท่าน้ำหลังที่ 2 และมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 130)
ลำดับเจ้าอาวาส (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 131) ได้แก่ พระอาจารย์ผิว, พระจารย์ใหญ่, พระครูนวการโกศล (หลวงพ่อหวล) พ.ศ.2487-2522, พระสมห์ชาญ อินทปญฺโญ พ.ศ.2522, พระครูมงคลวุฒิสาร (หลวงปู่ผิว) พ.ศ.2548, พระครูสังฆรักษ์ไสว จิตปาโล (รักษาการ) พ.ศ.2548, พระมหานิพนธ์ จิตฺตวุฑ์โฒ
สถานที่สำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 131) ได้แก่
อุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่คลองสายเล็กๆ สร้าง พ.ศ.2514-2517 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2517 ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2518
หน้าบันด้านหน้าตอนบนเป็นพระพุทธรูปประทับยืนอุ้มบาตรอยู่ในซุ้ม ขนาบข้างด้วยเทวดาถือฉัตร ตอนล่างเป็นพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ หน้าบันด้านหลังตอนบนเหมือนด้านหน้า ตอนล่างเป็นพุทธประวัติตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ (ตัดพระเมาฬี)
ประยูร อุลุชาฏะ เดินทางมาสำรวจเมื่อ พ.ศ.2513 บันทึกไว้ว่า อุโบสถของวัดพิกุลเป็นของเก่า มีการก่ออิฐถือปูนที่ผนังด้านหน้าขึ้นไปถึงอกไก่ แต่ต่อมาถูกต่อเติมไปมากแล้ว เข้าใจว่าน่าจะเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง (ประยูร อุลุชาฏะ 2514 : 106)
หลังจากนั้นไม่นานราว พ.ศ.2513-2514 มีการรื้ออุโบสถหลังเดิมที่ทรุดโทรมลง แล้วเริ่มสร้างอุโบสถหลังใหม่ใน พ.ศ.2514 จนแล้วเสร็จ ฝังลูกนิมิต พ.ศ.2517 (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 185)
อุโบสถหลังใหม่นี้สร้างบนที่ดินที่เคยเป็นโรงเรียน (สร้าง พ.ศ.2508) โดยย้ายโรงเรียนออกไปไว้ด้านหลัง และสร้างให้ใหม่เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ส่วนที่ตั้งอุโบสถเดิม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งฌาปนสถาน ทางทิศตะวันตกของอุโบสถ (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 185)
วัดพิกุลมีโครงการยกอุโบสถขึ้นเพื่อให้พ้นจากระดับน้ำท่วมที่มักท่วมอยู่เสมอ เพื่อหารายได้ใช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์ จึงเปิดให้พุทธศาสนิกชนลอดใต้อุโบสถตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548
วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระประธานองค์เดิมจากอุโบสถหลังเดิม นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปจำลองจากพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
มณฑปพระพุทธบาท สร้างในสมัยหลวงพ่อหวล เป็นอาคารคอนกรีต รูปแบบคล้ายกับมณฑปพระพุทธบาท ร่วมสมัยเดียวกันในวัดอื่นๆ ของตลิ่งชัน เช่น วัดประสาท วัดตลิ่งชัน และวัดมณฑป
กุฏิเก่าของหลวงพ่อหวล (อดีตเจ้าอาวาส) ทางวัดยังคงเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ของหลวงพ่อหวล (อดีตเจ้าอาวาส) เอาไว้ ซึ่งมีแนวคิดว่าจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์
ศาลาการเปรียญ กว้าง 16.5 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมือ่ พ.ศ.2492
หอสวดมนต์ กว้าง 9.3 เมตร ยาว 25.6 เมตร สร้าง พ.ศ.2497
หอระฆัง-หอกลอง มีกลองอยู่ชั้นล่าง มีระฆังอยู่ชั้นบน หน้าบันประดับถ้วยชาม
นอกจากนั้นภายในวัดยังมีพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ปางต่างๆ กว่า 10 องค์
ทางวัดจัดให้มีการสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2497 และยังจัดซื้อที่ดินที่ติดต่อกับวัดด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ 4 ไร่ 26 ตารางวา แล้วสร้างโรงเรียนวัดพิกุล เมื่อ พ.ศ.2508 สอนระดับประถมศึกษา (ปัจจุบันสังกัด กทม.)