พระบัวเข็มในประเทศไทย

พระอุปคุต พระบัวเข็ม หรือ พระอุปคุตทองเหลือง จกบาตร มีดอกบัว

พระบัวเข็มในประเทศไทย
รวบรวมและเรียบเรียงโดย
ศาสตรเมธีพระศิริพงศ์ ครุพันธ์กิจ

ท่านที่สนใจเรื่องพระพุทธรูปคงเคยได้ยินชื่อพระบัวเข็ม หรือเคยเห็นรูปลักษณะพระบัวเข็มอยู่บ้าง ลักษณะสำคัญของพระบัวเข็มนั้น เป็นพระที่แกะขึ้น จากกิ่งไม้พระศรีมหาโพธิ์ ลงรักปิดทองเป็นรูปพระเถระนั่งก้มหน้ามีใบบัวคลุมศีรษะ และมีเข็มหมุดปักอยู่ตามตัวหลายแห่ง นั่งอยู่บนฐานดอกบัวหงาย ดอกบัวคว่ำรองรับ เมื่อหงายใต้ฐานดูจะพบลายลักษณ์ปั้นทรงนูนต่ำ รูปดอกบัว ใบบัว และรูปปลา

ที่เรียกว่าพระบัวเข็มนั้นคือ รูปพระอุปคุตเถระ หรือพระสุภูติ เรื่องราวของพระบัวเข็มไม่ค่อยปรากฎเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในเมืองไทยเหมือนพระพุทธรูปองค์อื่นๆ เพราะพระบัวเข็มเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้เพราะเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวช ทรงสนิทสนมกับพระภิกษุชาวมอญมาก โดยทรงศึกษาประวัติพระพุทธศาสนา และพระธรรมวินัย จากพระภิกษุชาวมอญทรงแตกฉานในพระธรรมวินัยทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ถึงกับทรงพระราชทานกำเนิดพระสงฆ์ลัทธิธรรมยุตติกานิกายขึ้น และด้วยการที่ทรงติดต่อคุ้นเคยกับพระภิกษุชาวมอญมาโดยตลอด เมื่อพระภิกษุชาวมอญเข้าเฝ้าที่วัดบวรนิเวศฯ ครั้งใด ก็มักนำพระบัวเข็มเข้ามาถวายอยู่เนืองๆ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบประวัติความเป็นมาของพระบัวเข็มมากกว่าบุคคลใดในสมัยนั้น จนถึงทรงยอมรับพระบัวเข็มเข้าในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (พิธีขอฝน) พระบัวเข็มนี้ถือกันว่าเป็นพระที่มีความศักดิ์สิทธิ์ อภินิหาร ในทางชนะศัตรูหมู่มาร และในทางบังเกิดความอุดมสมบูรณ์, ลาภสักการะ, ความร่ำรวยอย่างยิ่งแก่ผู้เคารพบูชาซึ่งรูปลักษณะการปฏิบัติบูชาก็แปลกแตกต่างจากพระอื่นๆ

ลักษณะพระบัวเข็ม

การสร้างรูปเคารพของพระบัวเข็มนั้นมีรูปลักษณะที่แตกต่างกันอยู่มากตามแต่ผู้สร้างจะคิดประดิษฐ์รูปลักษณะตามประวัติแล้ว จัดสร้างขึ้นในอากัปกิริยาตามอิทธิปาฏิหารย์ของพระอุปคุตเหลือที่จะพรรณนาได้ เช่นเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ทั่วไปเหมือนกัน เท่าที่สังเกตพระบัวเข็มในประเทศไทย แบ่งออกได้ ๒ แบบ คือแบบมอญแบบหนึ่ง และแบบพม่าแบบหนึ่ง พระบัวเข็มทั้งสองแบบนี้คงอาศัยรูปแบบของพระบัวเข็มในอินเดียเป็นหลักสำคัญ แต่มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงขึ้นตามความนิยมในประเทศมอญและพม่า ส่วนลักษณะของพระบัวเข็มทั้ง ๒ แบบนั้น แยกลักษณะออกเป็นส่วนสำคัญได้ดังนี้
๑ พระเศียร ทั้งแบบมอญและพม่า ทำเป็นรูปใบบัวคลุมศีรษะ แต่แบบพม่าจะดัดแปลงใบบัวเป็นเมาฬียอดตูมสูงกว่าของมอญ
๒ พระหัตถ์ โดยปกติพระบัวเข็ม พระหัตถ์อยู่ในท่าเหมือนพระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่ผู้สร้างพระบัวเข็มในประเทศมอญจะเปลี่ยนลักษณะลำแขนของพระบัวเข็ม ให้เหยียดตรงไม่งอข้อศอก โดยประสงค์ให้แตกต่างจากลักษณะของพระพุทธรูป ส่วนพระบัวเข็มของพม่านั้นแขนขวางอพักข้อศอกเหมือนพระพุทธรูปปางมารวิชัย
๓ แท่นหรือฐาน ลักษณะแท่นรองพระบัวเข็มนั้นทำแบบต่างๆ บางองค์ที่ฐานประดับด้วยกะโหลกผี บางองค์ทำเป็นรูปแม่พระธรณีบีบมวยผม บางองค์ทำเป็นหัวช้างโผล่ออกมา หรือทำเป็นรูปยักษ์แบกฐานก็มี แต่โดยทั่วไปมักทำเป็นรูปประทับนั่งบนบัวคว่ำบัวหงาย ที่ฐานด้านหลังเว้นที่ไว้เพื่อจารึกนามผู้สร้าง หรืออุทิศให้ผู้ตาย
๔ บัวและเข็ม ลักษณะสำคัญของพระอุปคุตที่ทำให้คนไทยเราเรียกชื่อท่านต่างไปจากชื่อเดิม เพราะคนไทยเราไปเห็นลักษณะเด่นขององค์ประกอบคือใบบัวและเข็ม
“บัว” นั้นปรากฎอยู่ ๒ แห่ง คือที่พระเศียรทำเป็นคลุมด้วยใบบัวกับที่ใต้ฐานมีกอบัวใบบัวดอกบัวรวมกับสัตว์น้ำอื่นๆ แล้วแต่จะคิดสร้างขึ้น ส่วนเข็มตุ้มที่ปักนั้นแต่เดิมว่ากันว่าเป็นที่บรรจุพระธาตุแต่ภายหลังคงหาพระธาตุบรรจุได้ยากจึงทำเป็นเข็มตุ้มไว้เฉยๆ มีจำนวน ๓ เข็ม, ๕ เข็ม, ๗ เข็ม และ ๙ เข็ม โดยวางไว้ในตำแหน่งต่างกัน คือที่หน้าผาก ๑, ที่แขนทั้ง ๒, ที่หน้าอก, ที่มือทั้ง ๒, ที่หัว, เข่าทั้ง ๒ และด้านหลังหนึ่ง แล้วแต่ว่าพระบัวเข็มองค์นั้นๆ จะบรรจุตุ้มเข็มมากน้อยเพียงใด คนทั่วไปมักแสวงหาพระที่มีการบรรจุเข็มมากแห่งด้วยกัน เพราะถือว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๕ จีวร พระบัวเข็มมักทำจีวรแบบบางๆ แนบกาย หรือทำเป็นจีวรถลกขึ้นพาดบ่าก็มี

ตามที่กล่าวมานี้ เป็นพระบัวเข็มที่ทำขึ้นเป็นรูปพระมหาเถระนั่งก้มหน้าอยู่บนแท่นอย่างธรรมดา แต่ยังมีแบบพิเศษอีก ๔ แบบ คือ
๑ แบบฉันอาหาร พระบัวเข็มลักษณะนี้เป็นรูปพระเถระนั่งบนแท่นบัวคว่ำบัวหงาย
หันหน้าเอี้ยวไปทางขวามือขวากำลังล้วงข้าวจากบาตรที่อยู่ในมือซ้าย
๒ แบบปรกมังกร พระบัวเข็มลักษณะนี้ เป็นลักษณะพม่าผสมจีนทำเป็นรูปพระเถระ
นั่งอยู่ในท่ามารวิชัย เหนือศีรษะทำเป็นมังกรโผล่หัวง้ำหน้าออกมา
เหมือนพระพุทธรูปปางนาคปรกของไทยเรา
๓ แบบคลุมโปง ลักษณะเป็นรูปพระเถระนั่งคลุมผ้ามองไม่เห็นหน้า คงเป็นตอนที่พระอุปคุต
นั่งสมาธิอยู่ด้วยฌานสมาบัติ สิ้นสุดทิวาวารภายในปราสาทแก้วเจ็ดประการ
ใต้ท้องมหาสมุทร
๔ แบบทรงเครื่อง พระบัวเข็มลักษณะนี้เข้าใจว่ากษัตริย์มอญหรือพม่า สร้างพระอุปคุตให้
ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิ์ขึ้นก่อนแล้วสามัญชนมาทำเลียนแบบขึ้นภายหลัง
พระอุปคุตทรงเครื่องจักรพรรดิ์นี้พบมากที่เมืองเชียงตุง

พึงสังเกตุว่าการทำพระบัวเข็มในรูปลักษณะต่างๆ นั้น
ผู้สร้างได้คิดขึ้นตามปาง หรืออาการของพระอุปคุตในท่าต่างๆ กัน
เช่น ปางเข้าฌานสมาบัติอยู่ในน้ำเป็นต้น

วิธีการบูชา

การปฏิบัติบูชาพระบัวเข็มนั้น มีหลักการใหญ่ๆ อยู่ว่า ต้องให้พระบัวเข็มอยู่เหนือผิวน้ำ โดยใช้ภาชนะชนิดใดก็ได้ แล้วแต่จะเห็นสมควรเช่น ขันสัมฤทธิ์ ขันเงิน ขันทอง หรืออ่างแก้ว ใส่น้ำแล้วตั้งพานประดิษฐานพระบัวเข็มอยู่กลางภาชนะนั้นรอบๆ องค์พระบัวเข็ม ใช้ดอกมะลีโรยอยู่โดยรอบ หรือจะสร้างภาชนะใดให้งดงามเป็นพิเศษเพื่อความเหมาะสม เป็นเครื่องเจริญศรัทธาก็แล้วแต่ความประสงค์

คาถาบูชาพระอุปคุตเถระ (พระบัวเข็ม)

แบบที่ ๑
นะโม อุปะคุตโต มะหาเถโร
สัพพะอันตะรายัง วินาสสันติ
สัพพะสิทธิลาภัง ภะวันตุ เม

แบบที่ ๒
อุปะคุตโต จะ มะหาเถโร ยักขาเทวา นะระปูชิโต
โสระโห ปัจจะยาทิมหิ มะหาลาภัง ภะวันตุ เม

แบบที่ ๓
อุปะคุตโต จะ มะหาเถโร สัมพุทเธนะ วิยากะโต
มารัญจะ มาระพะลัญจะ โส อิทานิ มะหาเถโร
นะมัสสิตตะวา ปะติฏฐิโต อะหังวันทามิ
อิทาเนวะ อุปะคุตตัง จะ มะหาเถรัง ยัง ยัง
อุปัททะวัง ชาตัง วิธังเสติ อะเสสะโต
มะหาลาภัง ภะวันตุ เม