บูชา ‘พระอุปคุต’ ในวันเพ็ญพุธ (เป็งปุ๊ด) 26 พฤษภาคม 2564 โดย อาจารย์ ‘คฑา ชินบัญชร’
ในคืนวันพุธ ที่ 26 พฤษภาคม 64 เวลา 21.00 – 24.00 น. เป็นช่วงที่ควรบูชา “พระอุปคุต” ซึ่งมีความเชื่อว่า ผู้ที่ได้บูชาและใส่บาตรกับท่าน ชีวิตจะเหลือกินเหลือใช้ ร่ำรวยเป็นเศรษฐี สุขภาพแข็งแรง รักยืนยาว
การบูชา “พระอุปคุต” ในวันเพ็ญพุธ (เป็งปุ๊ด) ครั้งนี้ทางภาคเหนือ ชาวล้านนาจะมีประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน โดยจะทำกันในเวลาเที่ยงคืนของคืนวันอังคาร ส่วนภาคกลางจะทำในคืนวันพุธ ที่เป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ บางปีอาจจะมีเพียงครั้งเดียว หรือ 2 ครั้ง และบางปีก็ไม่มีเลย
อาจารย์ คฑา ชินบัญชร กล่าวถึงความเชื่อว่า พระอุปคุต พระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มาก จะออกจากการจำพรรษาเหาะขึ้นมาจากมหาสมุทร (หรือสะดือทะเล) โดยจะแปลงกายเป็นสามเณรน้อย ออกมาโปรดสัตว์ ถ้าผู้ใดได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตแล้ว บุคคลผู้นั้นจะเหลือกินเหลือใช้ ร่ำรวยเป็นเศรษฐี สุขภาพแข็งแรงรักยืนยาว บังเกิดแต่สิ่งดีที่เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
“พระอุปคุตเป็นพระภิกษุองค์สำคัญองค์หนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ชื่อ “อุปคุต” แปลว่า ผู้คุ้มครองรักษา พระอุปคุตมีบทบาทสำคัญในการทำสังคายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชคือท่านได้ช่วยปราบพญาวสวัตตีมาร ที่มาทำลายงานฉลองเจดีย์ 84,000 องค์ และพิธีสังคายนาพระไตรปิฏก จนพญามารพ่ายแพ้ เมื่อครั้งมีการทำสังคายนาพระไตรปิฏก เหล่าพระอริยะได้อัญเชิญพระอุปคุต ไม่ให้มารทำลายพิธี ครั้งเสร็จพิธี เป็นเวลาล่วงเลยเพล(เวลาพระฉันท์) พระอุปคุตกลับไปที่กุฎิใต้น้ำ แหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อดูพระอาทิตย์ (ดูเวลา) ด้วยอำนาจบารมี พระอาทิตย์ชักรถทรง ถอยหลังเวลากลับ เพื่อให้พระอุปคุตได้ฉันข้าว จึงเป็นที่มาของ พระอุปคุต เอียงคอจกบาตรหรือ คนไทยรู้จักกันในนาม พระจกบาตร นั่นเอง”
ขอบคุณที่มาของบทความ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/939850