ญาติโยมท่านผู้มีอุปาระคุณทุกท่าน วันนี้อาตมาจะเชิญชวนท่านไปสร้างธรรมาสน์ ถวายให้เป็นสมบัติวัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด ซึ่งตอนนี้การขนส่งได้ส่งมอบของมาถึงวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ในหลักการสร้างถวายให้เกิดพลาอานิสงส์การทำบุญนั้น ต้องพร้อมใจกันประเคน หรือมอบถวายให้เป็นพิธีการเสียก่อนจึงจะใช้ได้
ลักษณะธรรมาสน์ที่อาตมาจะชวนเชิญท่านร่วมกันเป็นเจ้าภาพถวายนี้ เป็นศิลปะร่วมสมัยระหว่างล้านนากับศิลปะพุกาม กล่าวกันว่าเป็นธรรมาสน์ชิ้นแรกของคนไทย โดยฝีมือคนไทย (โดยฝีมือช่างชาวลำบาง) และที่สำคัญเป็นธรรมาสน์ของคนไทย ที่สวยที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านใดที่มีโอกาสผ่านไปอย่าลืมแวะไปถ่ายรูปไว้ชมกัน
ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน ที่มีส่วนร่วมในการจัดสร้าง ซึ่งจะใช้เป็นธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา ขอตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “เก้าอี้จักรพรรดิ” ก็แล้วกัน ขอบคุณผู้ถ่ายรูปส่งมาให้ ทุก ๆ คนมีจิตแจ่มใสดี ภาพลักษณ์ปรั่งปลื้มสุกสกาว บุญรักษา พระคุ้มครอง (อย่าลืมคุ้มครองพระด้วยนะจ๊ะ)
ธรรมาสน์ คือ
อาสนะที่จัดไว้ให้พระภิกษุนั่งแสดงธรรม มักจะยกระดับขึ้นสูงกว่าระดับสายตาของผู้นั่งฟัง ด้วยพระธรรมเป็นที่เคารพสูงสุดของพุทธศาสนิกชน แม้พระพุทธองค์ก็ทรง เคารพพระธรรม ดังนั้น ผู้แสดงธรรมจึงต้องได้รับการเชิดชูเป็นพิเศษ ให้นั่งในที่สูงกว่าผู้ฟัง แม้ในที่ประชุมนั้นจะมีพระมหาเถระหรือพระราชา ผู้แสดงธรรมก็ได้รับสิทธิพิเศษให้นั่งบนที่สูงกว่า
ในครั้งพุทธกาลพระสาวกผู้แสดงธรรมก็นั่งบนที่สูงกว่าพระศาสดา ผู้เป็นประธานในมณฑลพิธีท่ามกลางหมู่สาวก และศาสนกชิน ลักษณะของธรรมาสน์จะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทรงปราสาทมากกว่าทรงอื่น วัสดุที่ใช้ทำส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ ประดับประดาด้วยลวดลาย และเทคนิคการประดับต่าง ๆ กันไป ตามคติและจินตนาการของศิลปิน ธรรมาสน์จะตั้งอยู่ในกลางอาคารของพระวิหารบ้าง อยู่ทางด้านขวาของพระประธานบ้าง อยู่ทางด้านซ้ายของอาสนสงฆ์บ้าง อันนี้ก็มิได้มีหลักตายตัวแต่อย่างใด ขึ้นอยู่ตามที่เหมาะควรของสถานที่นั้น ๆ
การสร้างธรรมาสน์
นอกจากมีจุดประสงค์เพื่อ ต้องการให้เป็นที่แสดงธรรมของพระสงฆ์แล้ว ในคติของชาว ล้านนาก็ดี ของชาวอีสานและภาคกลางก็ดี หรือแม้ในคติของพี่น้องทางเมืองลาว ยังเชื่อว่า การสร้างธรรมาสน์ถวาย ยังเป็นการทำบุญให้สำหรับตนเองในภายภาคหน้า และเป็นการถวายทานให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนา และเป็นบุญราศีแก่ตน แก่ครอบครัว โดยเชื่อว่า การสร้างธรรมาสน์เป็นการสร้างหลักบ้านเสาเมือง จะทำให้ได้กุศลมากมายมหาศาล
ที่มาของคำว่า “ธรรมาสน์”
มาจากคำ 2 คำ คือ “ธรรม” สนธิกับ “อาสนะ” สำเร็จรูปเป็น “ธรรมาสน์” (อ่านออกเสียงว่า ทำ – มาด ไม่อ่านว่า ทัน – มาด) หมายถึง ที่นั่งสำหรับแสดงพระธรรมเทศนา ของพระภิกษุสามเณร แต่เดิมถ้าเป็นทางล้านนานิยมสร้างเป็นรูปปราสาท ตั้งไว้ในพระวิหารบริเวณด้านขวาของพระประธาน ก่อนนั้นมีทุกวัด รูปปราสาทเป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์และพระนิพพานแก้ว
ลักษณะของธรรมาสน์แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ
ส่วนฐาน โดยมากแล้วฐานของธรรมาสน์ (แบบทรงสูง) จะยกสูงจากพื้น 90 เซ็นติเมตรบ้าง 1 เมตรบ้าง 1.20 เมตรบ้าง (แบบทรงเตี้ย) ส่วนทรงเตี้ยก็จะยกสูงจากพื้น 30 เซ็นติเมตรบ้าง 40 – 50 เซ็นติเมตรบ้าง ลักษณะเป็นเท้าสิงห์เป็นส่วนใหญ่ มีขันธ์รอบบริเวณพื้นตรงที่พระปูอาสน์นั่ง ทางภาคอีสานทำเป็นรูปพญานาคเป็นส่วนใหญ่
ส่วนกลาง คือบริเวณห้องสี่เหลี่ยมซึ่งใช้เป็นที่นั่งเทศน์ของพระสงฆ์ มีขนาดพอเหมาะสำหรับให้พระภิกษุรูปหนึ่งนั่งแสดงธรรมได้สะดวก ห้องเทศน์นี้มีขนาดประมาณ ความกว้าง 1 เมตรบ้าง ความลึก 90 เซ็นติเมตรบ้าง โดยเปิดเฉพาะด้านหน้า ใช้เป็นที่ขึ้นลงจากธรรมาสน์ของพระภิกษุ องค์แสดงธรรม
ส่วนยอด สำหรับแบบทรงที่มีหลังคานั้น มีหลายรูปแบบ มีทั้งแบบง่าย ๆ คือ หลังคาราบ และหลังคาที่มีการลดชั้นในทรงปราสาท ซึ่งการลดหลั่นของชั้นหลังคานั้น จะมีตั้งแต่หลังคาซ้อนชั้นเดียวไปจนถึงหลายชั้น แต่ยอดสุดก็คือกลีบบัวรับปลี เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนา ส่วนคติทางภาคกลางและภาคอีสานก็เป็นอีกอย่าง ธรรมาสน์แบบภาคกลาง เป็นธรรมาสน์แบบเก้าอี้มีพนัก ไม่มีหลังคา ประดับด้วยลวดลาย ปิดทอง ประดับกระจก น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้ง่าย เป็นต้น
อานิสงส์สร้างธรรมาสน์
1. หลักบ้าน การสร้างธรรมาสน์ตามคติชนวิทยา ถือว่าเป็นการสร้างหลักบ้าน คือเป็นสัญลักษณ์ยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาหมู่บ้านมีกิจกรรมทางศาสนา ชาวบ้านก็จะอาราธนาพระสงฆ์ขึ้นชี้แจงแสดงธรรม ใช้ธรรมาสน์เป็นที่สั่งสอนหลักการต่าง ๆ แก่ผู้ครองเย้า ครองเรือน เช่นชี้แจงแสดงให้เห็นซึ่ง บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ เป็นต้นฯ
2. เสาเมือง ถือว่าเป็นการสร้างเสาเมือง คือ เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านจิตใจ และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคม โดยศีลโดยธรรม การสร้างความมั่นคงให้ชุมชนสังคมนั้น พระสงฆ์ใช้ธรรมาสน์สำหรับแสดงพระธรรมเทศนา นำหลักธรรมของพระพุทธเจ้า สั่งสอนชนชั้นผู้นำได้อย่างสง่าผ่าเผย เกิดองค์เคารพ มีระเบียบแบบแผน แนะแนวแนะนำ ท่ามกลางหอธรรมหรือโรงธรรม ในวิหารหรือในศาลาการเปรียญ ในอาคารอเนกประสงค์ สถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ ในที่ประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางพุทธศาสนา อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านมาช้านาน
3. รุ่งเรืองค้ำชู ถือว่าเป็นการเชิดชูเกียรติแห่งพระพุทธศาสนา ด้วยภูมิปัญญาอันแยบคาย ของบรรพชนที่ประสงค์ดำรงจะรักษาไว้ซึ่งพระธรรมอันสูงส่ง ให้คงสภาพอันศักดิ์นิจนิรันดร์ อีกพระสงฆ์รูปที่ได้รับสมมุติให้เป็นผู้แสสดงธรรม ก็ต้องขนขวายใฝ่รู้สู้ศึกษาพัฒนาตน มิให้เก้อเขินเวลาขึ้นแสดงพระธรรมเทศนา…….
“การฟังธรรม นี้ดี มีอานิสงส์
ให้เห็นตรง เห็นชัด ตัดสงสัย
จึงควรที่ จะได้ฟัง อย่างตั้งใจ
ก็จะได้ ความดี มีแก่ตน
สิ่งใด ไม่เคยฟัง จะได้ฟัง
ขอให้นั่ง ตั้งใจรับ อย่าสับสน
จิตผ่องใส ได้ปัญญา มิมืดมน
ทำให้พ้น จากความทุกข์ ถึงสุขเอยฯ”
คำถวายธรรมาสน์เทศน์
ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ มะยัง ภันเต เอตัง ธัมมาสะนัง สะปะริวารัง พุทธะสาสะนิกานัง ธัมมะเทสะนัตถายะ อิมัสมิง อาวาเส นิยยาเทมะ สาธุ โน ภันเต อะยัง พุทธะสาสะนิกานัง ธัมมาสะนัสสะ ทานัสสะ อานิสังโส อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ ฯ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบธรรมาสน์ พร้อมกับของบริวารนี้ไว้ในอาวาสนี้ เพื่อประโยชน์เป็นที่นั่งแสดงธรรม แก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ขออานิสงส์แห่งการถวายธรรมาสน์ เพื่อประโยชน์เป็นที่นั่งแสดงธรรม แก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ ฯ
ส่วนพื้นที่ต่อไปก็จะได้กล่าวอนุโมทนากับคุณ Mr. Wayne, คุณ Ann, คุณ Renee, คุณ Janis ทุกคนในครอบครัว Sadoyama ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างธรรมาสน์กับทางวัดทุ่งเศรษฐี ถวายมา $100 คุณแม่วัน กิรณา บัวฮุมบุรา $100 คุณเปี๊ยก – คุณเข็ม $50 คุณณัฐธิดา เสนาสุ $100 คุณป้าพเยาว์ ชอบชม $200 คุณศศิญา เชียงกราว $200 เป็นต้นฯ
อาตมาขอใช้พื้นที่นี้ บอกบุญมายังทุกคนทุกท่านที่มีจิตศรัทธาจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างธรรมาสน์ถวายไว้เป็นศาสนสมบัติของวัด เพื่อถวายพระสงฆ์ไว้ใช้แสดงธรรมคำสอนขององค์พระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบไป รูปขอจำเริญพร
http://www.thailanewspaper.com/article/dhamma_som_samai/1654.php