ตามพุทธประวัติได้กล่าวถึง “พระปางเปิดโลก”ไว้ดังนี้
“… หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ในวันอาสาฬหบูชา ณ นครสาวัตถี แล้วได้เสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของท้าวสักกะเทวราช เพื่อแสดงธรรมโปรดพระมารดาที่ประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา (พระอภิธรรม) แก่พระมารดา ในที่สุดแห่งเทศนา พระมารดาทรงบรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน ครั้นอยู่จำพรรษาปวารณาครบ 3 เดือน จึงได้ตรัสกับท้าวสักกะเทวราชว่ามีพระประสงค์จะเสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ท้าวสักกะเทวราชจึงได้นิรมิตบันไดทั้ง 3 คือ บันไดทอง บันไดแก้ว บันไดเงิน ตีนบันไดทั้ง 3 ตั้งอยู่ที่ประตูเมืองสังกัสสะนคร ส่วนหัวบันไดพาดอยู่ที่เขาสิเมรุ พระพุทธองค์เสด็จลงทางบันไดแก้วตรงกลาง เทวดาลงทางบันไดทองทางด้านขวา มหาพรหมลงทางบันไดเงินทางด้านซ้าย ในขณะที่เสด็จลงจากเทวโลกนั้น พระพุทธองค์ทรงทำ‘ยมกปาฏิหาริย์’ อีกครั้งหนึ่ง คือ ทรงเปิดโลกทั้ง3 ได้แก่เทวโลก มนุษย์โลก และ ยมโลก พร้อมทั้งทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี ทำให้สัตว์โลกทั้ง3มองเห็นกันและกัน เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง อนึ่งพุทธบริษัทที่เห็นพุทธานุภาพแล้ว ล้วนแต่ปรารถนาพุทธภูมิ …”
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีผู้นิยมจัดสร้าง ‘พระพุทธรูปปางเปิดโลก’ เพื่อระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลกในวันปาฏิบท คือ วันแรม1 ค่ำ เดือน11 มาแต่โบราณกาล จะสังเกตได้จากการจัดสร้างพระพุทธรูปปางเปิดโลกตามวัดวาอารามต่างๆ รวมถึงพระกรุเก่าที่มีการขุดค้นพบ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้ถือเอาวันดังกล่าวเป็นปฐมเหตุแห่ง วันเทโวโรหนะ หรือ วันตักบาตรเทโวโรหนะอีกหนึ่งวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกด้วย
พระพุทธรูปปางเปิดโลกเป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับยืนอยู่เหนือดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงเปิดโลกบางแบบยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นถือว่าเป็น‘พระแห่งปัญญา’ให้มีสติปัญญาดี มีความฉลาดหลักแหลม ตามบทความ “ห้อยพระถูกโฉลก” ของ ธ. ธรรมรักษ์ นับเป็นพระต้องโฉลกและเสริมสิริมงคลกับผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี ซึ่งเกณฑ์ดวงเป็นผู้ที่มีปัญญา มีความรู้กว้างขวาง และมีความเที่ยงตรงครับผม