การบูชา“พระอุปคุต” เพื่อความสำเร็จในชีวิต และความร่ำรวย
“ผู้ใด ได้ใส่บาตรให้แก่ “พระอุปคุต” หรือบูชาท่านอย่างสม่ำเสมอ ก็จะพบกับชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยได้อย่างรวดเร็ว”
การบูชา “พระอุปคุต” เพื่อความสำเร็จในชีวิต และความร่ำรวย เพราะความเชื่อดังกล่าวจึงเป็นที่มาของพิธีการตักบาตรและการบูชา ซึ่งเป็นความเชื่อมายาวนานว่า “เป็นบุญใหญ่” จะทำให้พบกับความสำเร็จและความร่ำรวยนั้นจึงเป็นเสมือนเคล็ดลับ ชนิดที่พลิกชีวิตได้เพียงแค่ข้ามวัน เลยทีเดียว! หลายท่านคงสงสัยว่า พระอุปคุต ท่านคือใคร หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จัก หรือไม่เข้าใจ ว่าทำไมเมื่อตักบาตรแด่ท่าน หรือบูชาท่านจึงจะพบกับความสำเร็จและร่ำรวย จึงขอนำตำนานของท่านมาให้พิจารณากัน ตามความเชื่อในทางพุทธศาสนา ต่างศรัทธาต่อพิธีการทำบุญวันพระใหญ่ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำซึ่งตรงกับวันพุธ อันจะมีสิ่งมหัศจรรย์บังเกิด นั่นก็คือ พระอุปคุต ท่านออกมาบิณฑบาตโปรดสัตว์ หลังจากบำเพ็ญธรรมเข้าฌานสมาบัติเสวยวิมุตติสุข ณ โลกใต้สมุทร ภายในปราสาทแก้วที่เนรมิตขึ้น เหนือรัตนะบัลลังก์ ในค่ำคืนนั้น ท่านจะจำแลงแปลงกายเป็นเณร ออกจากสมาบัติ ขึ้นมาบิณฑบาตบนโลกมนุษย์โปรดสัตว์ผู้ทุกข์ยาก จึงนำมาซึ่งความเชื่อในเรื่องนี้จนเกิดเป็นประเพณี “ตักบาตรเที่ยงคืน” อันเป็นพิธีที่ถือปฏิบัติมาหลายร้อยปี ตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศและในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ดังเช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ของประเทศไทย ในวันเวลาดังกล่าว จะมีผู้คนจำนวนหลายพันคนจะมารวมตัวกันที่วัดอุปคุต เริ่มจากบริเวณสองข้างถนนเชิงสะพานนวรัตน์ ไล่ไปเป็นแถวยาวเหยียด เพื่อที่จะทำการตักบาตรพระหลายพันรูปซึ่งนิมนต์มาจากท้องที่ต่างๆ ทั้งในเมืองและนอกเมือง
เมื่อเข้าสู่วันใหม่คือเวลา 00.00 น. ก็จะถึงเวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ ผู้ศรัทธาในเนื้อนาบุญนับพันจะร่วมกันตักบาตรโดยพร้อมเพียงกัน สร้างความอิ่มอกอิ่มใจเพราะชื่อว่า การตักบาตรในค่ำคืนกับพระสงฆ์ที่สมมติว่า เป็นพระอุปคุตนี้ หากใครได้ตักบาตรและอธิษฐานขอพรสิ่งใดไว้ ก็จะสำเร็จผลได้ง่ายว่าการอธิษฐานในเวลาปรกติ ในอดีตกาลนั้น กล่าวกันว่า ผู้ใดก็ตามที่สามารถใส่บาตรแด่พระอุปคุตได้นั้น จึงต้องเป็นผู้ที่กระทำกรรมดีมามากมาย หรือเป็นผู้ทุกข์ทนและร้อนใจ ซึ่งพระอุปคุตต้องการโปรดสัตว์ โดยในปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวว่า นี่เป็นการใช้ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนา จูงใจให้ผู้คนทำทานโดยใช้ความศรัทธาในการใส่บาตรพระอุปคุตเป็นที่ตั้ง แต่ความจริงแล้ว แม้ไม่ใช่เป็นการใส่บาตรแด่พระอุปคุต แต่เป็นการใส่บาตรธรรมดาที่ปฏิบัติได้ในทุกเช้าตรู่ รวมถึงทำทานทั่วๆ ไป ก็ทำให้อุปสรรค ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ลดน้อยถอดถอยลงไป เพราะนี่คือ การทำบุญ กระทำกรรมดี เพื่ออุทิศบุญกุศล แด่มีพระคุณที่ล่วงลับ และเพื่อนำอานิสงส์บุญนั้นไปขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร ยิ่งเสริมด้วยพลังบุญเพื่อเดินบันไดขั้นที่สองแห่งการรักษาศีล และสู่บันไดขั้นที่สาม คือ เจริญภาวนา ก็จะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตนำไปสู่ความประสบความสำเร็จได้ทุกประการ ด้วยภูมิปัญญาจากศรัทธาของบรรพบุรุษ ที่มีมายาวนาน จึงได้มีการสร้างเคล็ดแห่งการบูชาประอุปคุตขึ้นมาโดยไม่ต้องรอฤกษ์ รอวันเวลา ผ่านการสร้างองค์พระบูชาที่เรียกว่า
“พระอุปคุต” หรือที่เรียกกันในบางพื้นที่ว่า “พระบัวเข็ม” การตั้งบูชา โดยมีวิธีการบูชา ด้วยการอัญเชิญพระอุปคุต ตั้งบนฐานรองรับ อยู่กลางภาชนะใส่น้ำ อันเป็นการจำลองในการที่ท่านจำพรรษาอยู่ในมหาสมุทร พร้อมด้วยดอกมะลิหอมลอยอยู่ เพื่อเป็นเครื่องสักการบูชา แต่ที่สำคัญ ในตำแหน่งการจัดวางขององค์ท่าน ต้องตั้งต่ำกว่าพระพุทธรูป เพราะพระอุปคุตท่านเป็นพระอรหันต์ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
เคล็ดวิธีบูชาพระอุปคุต 1. ถวายน้ำสะอาดวันละ 1 แก้วที่สะอาด จุดธูปหอม 3 ดอก (หรือจะธูปไฟฟ้าสมัยใหม่ก็ได้) 2. ดอกมะลิหรือดอกบัวขาว ลอยอยู่ในภาชนะที่ใส่น้ำ 3. ถวายข้าว, กล้วย, ขนม ทุกเช้า หรือในทุกวันพระ แต่ห้ามถวายประเภทสิ่งมีชีวิต เพราะท่านไม่โปรดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งเป็นกรรมที่ผูกพัน 4. เวลาจัดงานหรือมีพิธีการใด ให้จัดโต๊ะพิเศษ อันเชิญพระอุปคุตมาตั้งไว้ พร้อมบูชาเครื่องสักการะตลอดงาน ระวังอย่าให้ไฟที่ตะบูชาและในงานดับขณะกำลังทำพิธี คำบูชา เพื่อขอโชคลาภจากพระอุปคุต เริ่มต้นด้วยการจุดธูปเทียนบูชา พร้อมกับดอกไม้หอม เครื่องหอมน้ำหอมต่างๆ เทหยดใส่ในขันน้ำมนต์ ณ ที่บูชาพระในบ้าน ในร้านค้า หรืออาคารสำนักงาน จากนั้นอธิษฐาน ขอให้กลิ่นควันธูปเทียน โดนลมพัดไปทางไหน ของให้ดลใจผู้คนเข้ามาอุดหนุนตลอด ขอให้ดำเนินกิจการด้วยความราบรื่น ร่ำรวย และมีความสำเร็จสมปรารถนาทุกประการ เมื่ออธิษฐานจุดธูปเทียนบูชาแล้ว ให้สวด นะโม 1 จบ และสวดคำบูชาขอลาภพระอุปคุต 1 จบ (หากจะให้เกิดผลเร็วให้สวด 5 จบทุกเช้าเย็นและเวลาที่ว่าง) ดังต่อไปนี้ -ตั้งนะโม 3 จบ -คำบูชาขอลาภพระอุปคุต มหาอุปคุตโต จะมหาลาโภ พุทโธลาภัง สัพเพชะนา พะหูชะนา ราชาปุริโส อิถีโยมานัง นะโมโจรา เมตตาจิตตัง เอหิจิตติจิตตัง ปิยังมะมะ สะเทวะกัง สะพรหมมะกัง มะนุสสานัง สัพพะลาภัง ภะวันตุเม ฯ เอหิจิตติ จิตตังพันธะนัง อุปะคุตะ จะมหาเถโร พุทธะสาวะกะ อานุภาเวนะ มาระวิชะยะ นิระภะยะ เตชะปุญณะตา จะเทวะตานัมปิ มะนุสสานันปิ เอหิจิตตัง ปิยังมะมะ อิมังกายะ พันธะนัง อะทิถามิ ปะอัยยิสสุตัง อุปัจสะอิ ฯ (ในบางแห่งใช้คาถาบทนี้ “ อุปะคุตโต จะ มะหาเถโร สัมพุทเธนะ วิยากะโต มารัญจะ มาระพะลัญจะ โส อิทานิ มะหาเถโร นะมัสสิตะวา ปะติฎฐิโต อะหัง วันทามิ อิทาเนวะ อุปะคุตตัง จะ มาหาเถรัง ยัง ยัง อุปัททะวัง ชาตัง วิธัง เสติ อะเสสะโต มะหาลาภัง ภะวันตุเม ฯ “)