บทกรวดน้ำ วิธีการกรวดน้ำควรทำอย่างไร ทำไมเมื่อทำบุญเสร็จเราจึงต้องกรวดน้ำด้วย วันนี้เรามีคำตอบมาเฉลยครับ
กรวดน้ำ เมื่อทำบุญเสร็จ
การกรวดน้ำ คือ การตั้งใจอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่เราได้ทำไว้แล้วไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมทั้งรินน้ำให้ไหลลงไปที่พื้นดินหรือที่รองรับ แล้วเอาไปเทที่พื้นดินอีกต่อหนึ่งหรือรดที่โคนต้นไม้ก็ได้
และสำหรับประเพณีกรวดน้ำนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล
โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สอนให้ พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งได้มาทำบุญเลี้ยงพระ ทรงหลั่งทักษิโณทก (กรวดน้ำ) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการ
“อุทิศส่วนบุญส่วนกุศล” ให้แก่พระญาติที่ล่วงลับของพระองค์ นับตั้งแต่นั้นมา เวลาทำบุญจึงนิยมใช้การกรวดน้ำเป็นสัญลักษณ์แทนการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล
วิธีกรวดน้ำ
1. กรวดน้ำเปียก คือ ใช้น้ำเป็นสื่อ รินน้ำลงไปพร้อมกับอุทิศผลบุญกุศลไปด้วย
2. กรวดน้ำแห้ง คือ ไม่ใช้น้ำ ใช้แต่สิบนิ้วพนมอธิษฐาน แล้วอุทิศผลบุญกุศลไปให้
และในระหว่างที่ทำการกรวดน้ำนั้น เราควรระลึกถึงผู้ที่มีคุณ หรือมีเวรกรรมต่อกัน เพื่ออุทิศผลบุญที่ได้ทำให้แก่บุคคลเหล่านั้น
กรวดน้ำเวลาไหน
สำหรับเราที่เราควรกรวดน้ำนั้น คือ ขณะที่พระอนุโมทนา หรือหลังทำบุญเสร็จ แต่หากไม่สะดวกจะทำตอนหลังก็ได้ แต่ทำในขณะนั้นดีกว่า ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
– ถ้ามีเปรตญาติมารอรับส่วนบุญ ท่านก็ย่อมได้รับในทันที
– การรอไปกรวดที่บ้านหรือกรวดภายหลัง บางครั้งก็อาจลืมไป ผู้ที่เขาตั้งใจรับก็อด ผู้ที่เราตั้งใจจะให้ก็อดไปด้วย
บทกรวดน้ำ ที่ควรรู้
บทกรวดน้ำแบบสั้น
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ขอบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุข สุขใจเถิดฯ
บทกรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร
ข้าพเจ้าขออุทิศบุญกุศลจากการเจริญภาวนานี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายของ ข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินท่านไว้ ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ ท่านจะอยู่ภพใดหรือภูมิใดก็ตาม ขอให้ท่านได้รับผลบุญนี้ แล้วโปรดอโหสิกรรม และอนุโมทนาบุญแก่ข้าพเจ้าด้วยอำนาจบุญนี้ด้วยเทอญ
เมื่อได้รู้จักบทกรวดน้ำกันแล้ว หลังทำบุญทุกครั้งก็อย่าลืมอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลของเรา ไปให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรของเราด้วยนะคะ เพราะนอกจากเป็นการให้แล้ว ยังเพื่อความสบายใจของเราอีกด้วย